นิทรรศการ 15th UOB Painting of the Year การประกวดจิตรกรรมยูโอบี ครั้งที่ 15 จัดแสดงผลงานประกวดจากศิลปินใหม่-สมัครเล่น และศิลปินอาชีพ ชวนมาสัมผัสการเล่าเรื่องอันฉูดฉาดผ่านงานจิตรกรรมของเหล่าศิลปินไทยกันที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

งานนี้จัดอยู่ที่บริเวณโถงชั้น 1 หอศิลปกรุงเทพฯ โดยแบ่งพื้นที่เป็นสองฝั่ง ทางด้านซ้ายมือจัดแสดงผลงานของศิลปินใหม่-สมัครเล่น ส่วนทางด้านขวามือเป็นผลงานจากเหล่าศิลปินอาชีพ
รอบนี้เลยขอชวนมาดูว่าผลงานที่ได้รับเลือกมาจัดแสดงในปีนี้สื่อสารแต่ละประเด็นออกมาได้น่าสนใจอย่างไรบ้าง

สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ UOB Painting of the Year Award ฝั่งศิลปินอาชีพ มีชื่อว่า ‘พราง’ โดย สุกิจ ชูศรี นำเสนอออกมาในประเด็นซึ่งเสียดสีผู้คนในสังคม โดยใช้องค์ประกอบต่างๆ สื่อสารประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมา อาทิ ดอกไม้บริเวณดวงตาที่มักจะเป็นสัญญะอันสื่อสารถึงความสวยงามของรูปลักษณ์ภายนอก รวมไปถึงกลิ่นหอมตัวแทนแห่งความดีงาม การแต่งกายของตัวละครในภาพที่ดูเนี๊ยบ ทรงผมเรียบแปล้ ให้ความน่าเชื่อถือ ขณะที่ตามตัวต่างรายล้อมไปด้วยแมลงวันอันเป็นตัวแทนของกลิ่นเน่าเหม็น สื่อสารถึงตัวตนที่ไม่อาจปกปิดได้ภายใต้หน้ากากที่สร้างขึ้นมา

รางวัลชนะเลิศ Most Promising Artist of the Year ฝั่งศิลปินใหม่-สมัครเล่น ผลงาน ‘สังคมเชิงลบ’ โดย พัฒน์นรี บุญมี สื่อสารประเด็นเรื่อง Hate Speech โดยใช้ตัวละครเด็กผู้หญิงสวมเครื่องแต่งกายสีแดง รายล้อมด้วยเหล่าผู้คนซึ่งไม่เปิดเผยใบหน้า เฉกเช่นตัวตนบนโลกออนไลน์ อีกทั้งแสงเงาในภาพยังสื่อสารถึงการแพร่กระจายของ Hate Speech ในพื้นที่สาธารณะ โดยทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กรอบของหน้าต่าง เป็นมุมมองที่มาจากความตั้งใจสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวให้กับสังคม

นอกจากรางวัลชนะเลิศแล้วยังมีการจัดแสดงผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรีญทองแดง และผลงานจัดแสดงร่วม เพื่อเป็นเกียรติและยกย่องศิลปินผู้เข้าร่วมการประกวดอีกด้วย

ขอพามาชมผลงานรางวัลเหรียญทองสำหรับศิลปินอาชีพอย่างผลงาน ‘บทบันทึกของลมหายใจ’ โดย มุกดารัศมิ์ คำปา งานชิ้นนี้เป็นการเขียนบันทึกลมหายใจผ่านรูปทรงวงกลมโดยหนึ่งวงแทนหนึ่งลมหายใจ อีกทั้งใช้เทคนิคการวางและเพิ่มค่าน้ำหนักอย่างอิสระ สร้างความมีชีวิตชีวาให้ภาพราวกับมีการเคลื่อนไหว

ผลงานที่ได้รับรางวัลเหรียญทองจากศิลปินใหม่ ‘ชุมชนแออัด (Slum)’ โดย พิมพ์พิศา อนุฤทธิ์ งานชิ้นนี้หากมองผ่านๆ หลายคนคงคุ้นตากับภาพของลังบรรจุขวดน้ำดื่มที่ทับซ้อนกัน ทว่าศิลปินกลับนำรูปทรงเหล่านี้มาเล่าในแง่ความสัมพันธ์ของผู้คนกับที่พักอาศัยในเมือง ภายใต้พื้นที่ใช้สอยจำกัด อันสะท้อนความเป็นจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคมได้อย่างคมคาย

ชวนอ่านบทสัมภาษณ์จากศิลปินเพื่อทำความรู้จัก ‘พิมพ์พิศา’ ในฐานะศิลปินใหม่และผลงานชิ้นนี้มากขึ้น
‘ชุมชนแออัด (Slum)’ ผลงานจาก พิมพ์พิศา อนุฤทธิ์ อายุ 23 ปี เรียนจบจาก คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สาขาศิลปกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
เริ่มต้นกันกับที่มาที่ไปของผลงานนี้ ศิลปิน เล่าว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งจากที่ได้สัมผัสความอึดอัดของพื้นที่ในสังคมด้วยตนเอง และจากการสังเกตผู้คนในสังคมเมือง อีกทั้งยังเคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดมาก่อนหน้าที่จะเข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ทำให้สามารถมองเห็นข้อแตกต่างในเรื่องความหนาแน่นของประชากร โดยที่ต่างจังหวัดจะมีความหนาแน่นของประชากรน้อยกว่า ด้วยเหตุนี้จึงได้หยิบประเด็นของ ‘ความแออัด’ มาสร้างสรรค์เป็นเรื่องราวใหม่ถ่ายทอดผ่านผลงานจิตรกรรม
สำหรับข้อความที่ต้องการสื่อสารกับผู้ชม พิมพ์พิศา กล่าวว่า “ต้องการถ่ายทอดออกมาให้ผู้คนได้รับชมและเห็นถึงสภาวะความแออัดในสังคม จากการใช้ความแออัดเข้ามาเล่นกับผู้ชม โดยที่หากผู้ชมได้มารับชมศิลปะชุดนี้ จะเกิดการคิดตามและได้รับความรู้สึกอึดอัด คับแคบ โดยการสร้างภาพออกมาเป็นสภาวะแบบนี้ที่อาศัยร่วมกับวัตถุสิ่งของจนกลายเป็นสภาพแวดล้อมใหม่ที่คนชนชั้นล่างต้องปรับตัวเพื่อการดำรงอยู่ ของชีวิตแบบปากกัดตีนถีบเอาตัวรอดในบริบทแบบทุนนิยมที่สร้างความแตกต่างทางชนชั้นทั้งรายได้และที่อยู่อาศัย ภายใต้ความแล้งแค้นทางทรัพยากร และความแออัดใน พื้นที่ที่เห็นในผลงานอาจเคยเกิดขึ้นกับชีวิตรายวันของผู้รับชมได้”
นอกจากนี้ยังเล่าถึงองค์ประกอบต่างๆ และเทคนิคที่ใช้ในผลงานเพิ่มเติมอีกว่า “เอกภาพชิ้นนี้เกิดจากการเลือกตำแหน่งการจัดวางตัวกล่องลังเป็นตัวนำเสนอหลักในลักษณะที่ซ้อนทับกันสูงๆ เป็นกลุ่มก้อนเพื่อให้รู้สึกถึงความอึดอัด ชิ้นงานมีความสมดุลกันด้วยน้ำหนัก และการเลือกใช้ชุดสีที่มีหลากหลายสีสันขับจุดเด่น ทั้งยังมีการสร้างความกลมกลืนด้วยการจัดองค์ประกอบ โดยการเอารายละเอียดต่างๆ ที่มีประตู หน้าต่าง เข้าไปประกอบสร้างกับกล่องลัง ที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมที่เป็นชั้นๆ เหมือนกับที่พักอาศัย ทำให้สองสิ่งดังกล่าวที่ได้นำมารวมกันมีการส่งเสริมกันและกัน เข้ากันได้พอดี ไม่ขัดแย้ง ทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน”
ทางด้านแนวโน้มในการใช้ผลงานศิลปะสื่อสารกับสังคมในอนาคตสำหรับเธอ
“ต้องการพัฒนางานเกี่ยวกับสังคมเป็นเรื่องราวใหม่ๆ ต่อไป เพื่อเป็นตัวแทนเล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมและโดนมองข้ามไป”
เข้าชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันนี้ – 27 ตุลาคม 2567
ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม
พิกัด
- 15th UOB Painting of the Year
- หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- เปิดวันอังคาร – อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 10.00 – 20.00 น.
- เดินทางได้โดย BTS สถานีสนามกีฬา Exit 3
- มีที่จอดรถ