Sustrends 2025 งานสัมมนาว่าด้วย 45 เทรนด์ความยั่งยืนจาก 15 วงการ

Sustrends 2025 งานสัมมนาที่รวบรวม 45 เทรนด์ความยั่งยืนจาก 15 วงการ จัดขึ้นสำหรับเชิญชวนผู้คนมาร่วมทำความเข้าใจ พร้อมเปิดมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับเทรนด์ด้านความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ

งานนี้จัดขึ้นโดย The Cloud ร่วมกับ UNDP, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร, UN Global Compact Network Thailand, กระทรวงต่างประเทศ, มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิโลกสีเขียว และหน่วยงานความยั่งยืนกว่า 20 องค์กร

อีกทั้งยังพร้อมมอบมุมมองใหม่ ๆ ของความยั่งยืนในแง่มุมต่าง ๆ ผ่านหัวข้อสัมมนา อาทิ

 Beyond 2030: ทิศทางเป้าหมาย SDGs หลังปี 2030

ศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนคงไม่สามารถบรรลุได้ในปี 2030 แต่เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติและโลกใบนี้ จึงต้องเร่งเดินหน้าต่อไป โดยที่การเรียนรู้จากอดีตทำให้พอมีความหวังและมองเห็นทางออก และตอนนี้มีความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยีและโซลูชันอยู่พอสมควร ขณะที่ประเด็นซึ่งทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมายมีทั้งเรื่องของโรคระบาด และอำนาจภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงประเด็นของกลไกขับเคลื่อนที่ยังไม่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น

ส่วนการเดินหน้าต่อในระดับโลกสรุปได้ว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย ยังเป็นฐานสำคัญ แต่จะมีการอัพเดทเพิ่มเติม เช่น เรื่อง AI ความขัดแย้งในโลก สันติภาพ ตัวชี้วัดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นความท้าทายในภูมิภาคต่าง ๆ และมีข้อเสนอให้การทำ SDGs เห็นภาพอย่างเป็นระบบมากขึ้น พร้อมทั้งปฏิรูประบบการขับเคลื่อนของ UN ทำให้บทบาทของประเทศพัฒนาแล้ว มีความเข้มข้นและเข้มแข็งมากขึ้นในการพัฒนา SDGs และมีการทบทวนให้ถี่ขึ้น รวมถึงปรับเป้าหมายให้มีความท้าทายเหมาะกับบริบท นอกจากนี้ ต้องมีการปฏิรูปเรื่องการเงินเพื่อการพัฒนาให้สนับสนุนการค้าที่ยั่งยืนมากขึ้น และที่เป็นประเด็นสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนคือ ทำให้การขับเคลื่อนโลกในปัจจุบันคิดถึงคนในอนาคต โดยมีการวางแผนรองรับความเสี่ยงในอนาคตมากยิ่งขึ้น   

จากการศึกษาวิกฤติการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย ขอเสนอให้ขับเคลื่อนแบบมียุทธศาสตร์มากขึ้น โดยเน้นที่ 6 ประเด็น ได้แก่

  1. การเปลี่ยนผ่านระบบเกษตรและอาหารให้ยั่งยืนขึ้น
  2. การเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรมและยั่งยืน
  3. การรับมือกับภัยพิบัติและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นในอนาคต
  4. ความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค
  5. เรื่องสุขภาพและสุขภาวะ โดยมีข้อกังวล เช่น คุณภาพทางการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การตายบนท้องถนน ซึ่งเหล่านี้ยังเป็นวิกฤติของไทย
  6. เรื่องระบบอภิบาลและกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน 

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเชิงกลไก 4 เรื่อง ดังนี้

  1. ทำให้กลไกการเงินเพื่อการพัฒนากลายเป็นวาระสำคัญใน Thailand SDGs Roadmap ของสภาพัฒน์ และการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่เฉพาะภาครัฐ แต่ต้องเป็นกลไกที่มาสนับสนุนภาคประชาสังคมและชุมชนในขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ด้วย
  2. เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมและภาควิชาการมีส่วนร่วมในนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน
  3. ทำให้เกิดกลไกการรับผิด รับชอบของภาครัฐในการขับเคลื่อน SDGs โดยให้มีการรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลต้องรับผิดรับชอบต่อการบรรลุหรือไม่บรรลุเป้าหมาย
  4. การเสริมสร้างศักยภาพ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกลไกในการสร้างศักยภาพให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทำความเข้าใจเรื่องความยั่งยืน เพื่อพร้อมไปขับเคลื่อน และการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ยังไม่ถูกฝังเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาไทย

อีกทั้งยังกล่าวทิ้งท้ายว่า “เราต้องการสร้างคนรุ่นใหม่มาเพื่อขับเคลื่อน SDGs ในอนาคตและทำให้การทำงานภาครัฐมีความต่อเนื่อง ไม่หยุดอยู่กับที่เมื่อมีการเปลี่ยนตัวของผู้คน เรายังมีหวัง จึงต้องลงมือทำกันต่อไป เพื่อให้ทุกคนบนโลกให้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และทำให้โลกใบนี้อุ้มชูทุกชีวิตได้”

Sustainable Intelligence: แนวทางปรับตัวในโลกที่เปลี่ยนไป

ดร. ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการปรับตัวและปรับใจในการใช้ชีวิต โดยการสร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้ปรับตัวรับมือความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยที่การปรับตัวมีทั้งการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง การปรับตัวสู่งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ green collar เพราะในอนาคตจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก และสุดท้ายเป็นประเด็นสำคัญที่กำลังจะถูกพูดถึงกันมากในอนาคตอันใกล้นี้คือ Inner Development Goals หมายถึงการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของบุคคล โดยก่อนจะเปลี่ยนโลกได้เราต้องเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมของตัวเองก่อน ซึ่งจะเป็นหนทางที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกับโลกที่เปลี่ยนไปได้

การมีสังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Intelligence จะทำให้มนุษย์อยู่รอดในโลกที่เปลี่ยนไป โดย 3 เรื่องสำคัญที่คนต้องมีองค์ความรู้ นั่นคือต้องรู้ลึก รู้จริง ได้แก่ เรื่องอากาศ น้ำ และอาหาร แม้จะไม่ใช่เรื่องยาก แต่จากการวิเคราะห์มีเพียง 10% ของภาคธุรกิจที่รู้ว่าจะรับมือและจัดการกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ มีบริษัทไม่เกิน 10% บนโลกใบนี้ที่มีแผนทำให้คาร์บอนเป็นศูนย์ภายในเป้าหมายอันสั้น แม้อีก 90% ไม่ได้ปล่อยวาง แต่ก็ทำไม่ได้ หรือบางส่วนรู้ว่าต้องทำ แต่ยังไม่มีแผน หรือที่แย่กว่านั้นบางคนยังไม่รู้ว่าอะไรคือ Net Zero เช่นเดียวกับเรื่องน้ำและเรื่องอาหารที่หลายคนยังไม่รู้วิธีการจัดการอย่างยั่งยืน ซึ่งเรื่องอาหาร หรือ Food system จะเป็นเทรนด์ที่ปี 2025 เวทีระดับโลกจะกลับมาพูดถึงเรื่องของครัวโลกกันมาก ซึ่งใครที่มีองค์ความรู้เรื่องอากาศ น้ำ อาหาร จะได้รับการจ้างงานในภาคธุรกิจ

“สุดท้ายเป็นเรื่อง IDGs หรือ Inner Development Goals หรือการพัฒนาริเริ่มจากตัวเรา เมื่อมีปัญญาแล้วสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ ซึ่งมี 5 มิติของการนำเอา IDGs มาทำให้เกิดความยั่งยืน คือ Beingความเป็นตัวเรา Thinking สิ่งที่เราคิด Relating ออกนอกตัวเรา ความสัมพันธ์ Collaborating ความร่วมมือ และ Acting การลงมือปฏิบัติ พูดง่าย ๆ คือหากสามารถที่จะเอากระบวนการของตัวเองมาเป็นการริเริ่มสร้างสรรค์ มีการคิดอย่างแยบยล มีการวิเคราะห์และกลั่นกรองความรู้ของตัวเองที่มีอยู่เอามาเลือกใช้ สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เราทำกับคนอื่นได้ ปลดล็อกเรื่องการเห็นคนสำคัญ เหล่านี้ไม่ได้มีแค่วิธีคิด แต่ทำให้เรารู้ตัวว่าทำอะไรได้บ้าง และอนาคตต้องรอดด้วยองค์ความรู้แบบไหน เราอาจต้องผนึกกำลังกันว่าการพัฒนาที่มองย้อนกลับไปมองตัวตน อาจเป็น Next Solution ที่ไม่ต้องพึ่งคนอื่น แต่พึ่งภายในตัวตนของเราเอง สามารถปลุกพลังและช่วยให้เทรนด์ปี 2025 บรรลุมิติของการอยู่รอด”

Equality in Diversity: ความเท่าเทียมแห่งความหลากหลาย

ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศถูกหยิบมาพูดอย่างแพร่หลายมากขึ้นในทุกวันนี้ แต่ความเป็นจริงแล้ว ประเด็นปัญหาที่รุนแรงยิ่งกว่าก็คือ ความหลากหลายทางเพศที่ทับซ้อนกับกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ 

“กิตตินันท์ ธรมธัช” นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ฉายภาพว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาคมโลกต่างขานรับการยุติการเลือกปฏิบัติต่อความหลากหลายของมนุษย์ และยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ โดยแบ่งประชากรกลุ่มเปราะบางเป็น 13 กลุ่ม และพยายามจัดการแก้ปัญหาด้วยแนวทางเฉพาะสำหรับแต่ละกลุ่ม ทั้งที่ในความเป็นจริง ประชากรกลุ่มเปราะบางจำนวนมากมีอัตลักษณ์ทับซ้อน คือมีความเปราะบางหลายด้านพร้อมกัน ทำให้การแก้ปัญหาองค์กรใดองค์กรหนึ่งทำไม่ได้ ต้องช่วยกัน ดังนั้น จึงต้องมีความเข้าใจและต้องเป็นการแก้ที่เฉพาะทางมากขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องมุ่งส่งเสริมศักยภาพเพื่อให้เขาได้กลับสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างเสมอภาคกับคนทั่วไป

“สิ่งที่จะส่งเสริมความหลากหลายได้ดีที่สุดก็คือ การขจัดการเลือกปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน และนั่นเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนปรารถนาที่สุด แต่แนวทางนี้ปรากฏน้อยมาก โดยในประเทศไทยมักมองไปที่ความเปราะบางและเข้าไปสงเคราะห์เยียวยา เราเห็นทฤษฎีเกือบแก่รอการเข้าสู่ระบบรับเบี้ยคนชรา มันเป็นทฤษฎีที่ผิด เพราะประเทศอื่นพยายามจ้างคนแก่ทำงานหากมีศักยภาพเพียงพอ ถ้าเปลี่ยนจากการสงเคราะห์เยียวยาเป็นการส่งเสริม ทุกคนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี กลายเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ แม้ตอนนี้ไทยเป็นชาติแรกของอาเซียนในที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่จริง ๆ แล้วเป็นเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้นของสิ่งที่เรายังต้องทำกันต่อไป เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม” 

สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นเรื่องมาตรฐานของความเป็นมนุษย์ หลักง่าย ๆ ที่จะดูว่ามีสิทธิมนุษยชนครบถ้วนหรือไม่มี 3 ข้อคือ ต้องอยู่รอด ต้องมีความมั่นคงในชีวิต และต้องมีโอกาสพัฒนาตัวเอง และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในการลดทอนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์คือ การเลือกปฏิบัติ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่การตีตรา หากต้องการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จะต้องมีการกฎหมายที่พยายามขจัดการเลือกปฏิบัติต่อทุกรูปแบบในกลุ่มเปราะบางทั้งหมด

Farming for Tomorrow: ปฏิรูประบบอาหารปรับเปลี่ยนแหล่งโปรตีน

การปฏิรูประบบการผลิตอาหารเป็นประเด็นที่สำคัญมากของไทย เพราะจะส่งผลต่อมิติของสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจ 

“จักรชัย โฉมทองดี” ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ PlantWorks สะท้อนความเป็นจริงและปัญหาของระบบอาหารว่า 1 ใน 3 ของก๊าซเรือนกระจกของโลกมาจากระบบอาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปศุสัตว์สร้างปัญหาให้กับโลกอย่างมาก ซึ่งหากสามารถปรับเปลี่ยนแหล่งโปรตีนได้ก็จะแก้ปัญหาได้หลายอย่าง ทำให้การปฏิรูประบบการผลิตอาหารและการบริโภคกลายเป็นกระแสใหญ่และมาแรง โดยกระแสแรกเป็นการปลูกความยั่งยืน (Planting Sustainability) ที่ตอนนี้ผู้บริโภคตั้งใจปรับสัดส่วนให้ที่มาของอาหารมีสมดุลระหว่างโปรตีนจากเนื้อสัตว์และความหลากหลายของพืช ด้วยสาเหตุสำคัญคือ การเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า Planetary Boundary หรือขอบเขตของโลกใบนี้ ในการช่วยลดโลกร้อน เนื่องจาก 2 ใน 3 ของก๊าซเรือนกระจกในระบบอาหารมาจากปศุสัตว์ และเมื่อเทียบเนื้อหมูกับถั่ว เพื่อให้ได้โปรตีนปริมาณเท่ากัน เนื้อหมูต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าถั่วถึง 9 เท่า นั่นสะท้อนว่าการมีสมดุลที่เหมาะสมระหว่างโปรตีนจากพืชและโปรตีนจากสัตว์สามารถส่งผลดีมากกว่าเมื่อเทียบกับการขับรถอีวี

กระแสต่อมาเป็นเรื่อง Growing Health -Spam การบริโภคให้ตอบโจทย์สุขภาพที่ดีจะได้ยินบ่อยขึ้น โดยเฉพาะสังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยด้วยความเร็วแรง ดังนั้น โจทย์เรื่องการบริโภคที่เป็นหัวใจสำคัญของสุขภาพจึงตามมาอย่างกระชั้นชิด ซึ่งมีข้อมูลว่าประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงไทยนอกจากจะบริโภคเนื้อสัตว์เกินกว่าขอบเขตของโลกแล้ว ยังบริโภคจนทะลุขอบเขตจำกัดของสุขภาพเกินกว่าสองเท่า ทำให้เป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อ กลายเป็นภาระที่ใหญ่ที่สุดของระบบสาธารณะสุขไทยในปัจจุบัน ส่วนกระแสสุดท้ายเป็นเรื่อง Kichen of the Future นั่นคือ ประเทศไทยคือครัวโลก เป็นประเทศทรงอิทธิพลทางด้านอาหาร ดังนั้น การเข้าใจโจทย์ของโลกจะสร้างโอกาสให้กับเศรษฐกิจ โดยเทรนด์ที่จะเห็นชัดในต่างประเทศ เช่น  การออกมาตรการทางภาษีกับสินค้าที่จะเข้าไปประเทศในยุโรป บางประเทศมีการออกข้อแนะนำการปรับลดการบริโภคเนื้อสัตว์และเพิ่มการบริโภคพืช เป็นต้น 

“รัฐบาลต้องหันกลับมามองเรื่องเหล่านี้ ว่าอาหารของไทยจะเดินไปข้างหน้าหรือย่ำอยู่กับที่ นอกจากโอกาสของอาหารในอนาคตแล้ว เรายังมีอาหารแห่งวันวานที่เป็นขุมทรัพย์ความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุกรรมท้องถิ่น ผักพื้นบ้านที่อยู่ในเมนูของปู่ย่าตายาย ซึ่งสามารถดึงมาเป็นพลังส่วนหนึ่งของอาหารไทย นอกจากเป็นคำตอบให้กับเศรษฐกิจไทย ยังเป็นคำตอบให้ชุมชนและเกษตรกรไทยได้ด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่ไทยมีโอกาสและเป็นเทรนด์ที่เราไม่น่าจะพลาด ขอย้ำว่าเรื่องของการปฏิรูประบบอาหารมาแน่ เพราะมีเทนเป็นบทบาทสำคัญในภาคเกษตรอยู่กับเราแค่เป็นหลักทศวรรษ ถ้าโลกนี้จะรอดต้องจัดการเรื่องของมีเทนให้ได้เร็วที่สุด แม้เราจะใช้พลังงานสะอาดในระบบอาหาร แต่ถ้าไม่มีการปรับการบริโภคโปรตีนให้สมดุลและยั่งยืน พบว่าเราก็ยังทะลุตัวเลขปลอดภัยของก๊าซเรือนกระจกอยู่ดี ผมยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นโอกาสร่วมระหว่างบุคคล สังคม และโลกใบนี้” นายจักรชัย กล่าวสรุป

อีกทั้งงานนี้ยังเป็น sustainable event ที่ทุกกิจกรรมภายในงานใส่ใจด้านความยั่งยืน ตั้งแต่สถานที่จัดงานในอาคารเปิดโล่ง ไม่ใช่เครื่องปรับอากาศ รวมถึงอาหารที่แจกในงาน มีร้านอาหารที่ช่วยสร้างอาชีพให้อดีตผู้ต้องขังอย่างครัวตั้งต้นดี ร้านอาหารที่จะเล่าถึงการระดมทุนสำหรับโครงการเพื่อสังคมของเทใจ ร้านอาหารแห่งอนาคตของสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย รวมถึงเลือกกลุ่มประชากรเปราะบางมาเป็นทีมช่วยจัดงานในส่วนต่าง ๆ โดยไร้ซึ่งการแบ่งแยกอีกด้วย