
หากเคยได้ดูภาพยนตร์แนวโรแมนติกเรื่อง La La Land ของผู้กำกับดาเมียน ชาเซลล์ เชื่อว่าใครหลายคนคงจดจำซีนสุดท้ายของหนังเรื่องนี้ได้ ในฉากเมื่อ มีอา (เอ็มม่า สโตน) เข้ามาชมการแสดงใน Seb’s Jazz Club ของเซบาสเตียน (ไรอัน กอสลิ่ง) อดีตแฟนหนุ่มนักเปียโน ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยเดินทางตามความฝันร่วมกัน แต่ในค่ำคืนนั้นระหว่างเขาและเธอ บทเพลงบรรเลงผ่านเปียโนอาจหมายถึงการส่งสารครั้งสุดท้าย
นอกเหนือจากดนตรีประกอบอันไพเราะกับอารมณ์ของความรักในฉากนี้ สิ่งหนึ่งที่เรดาร์ความสนใจของเราพบเจอคือ วัฒนธรรมการฟังดนตรีแสดงสดในแจ๊สคลับ ซึ่งจุดขายหรือโปรดักส์หลักอยู่ที่เพลง นักดนตรี และบรรยากาศ มากกว่าการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มใดๆ แล้วในเมืองไทยละ มี listening bar หรือสถานที่ฟังเพลงแจ๊สไหม ที่ไม่บังคับให้คนฟังต้องสั่งเมนูอะไร ที่ซึ่งแจ๊สไม่ใช่ background music หรือดนตรีประกอบ แต่เสิร์ฟ live performance ให้นักดนตรีเหมือนเซบาสเตียนได้เฉิดฉายเต็มที่ ขณะเดียวกันผู้ชมผู้ฟังได้สำรวจท่วงทำนองผ่านโสตประสาทและสุนทรีย์

กำเนิดคอมมูนิตี้คนรักแจ๊ส
Sweets Records คือคำตอบของคำถามข้างบน อย่างไรก็ตาม ‘สวีท’ ไม่ใช่สถานที่แต่คือผู้คน จุดเริ่มต้นของคอมมูนิตี้นี้เกิดขึ้นราวปี 2012 โดย คุณบ๊อบ-วิรุณ เลิศปัญญาไว ผู้หลงใหลในแจ๊สตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย หลังได้ฟังอัลบั้ม ‘Ella and Louis’ ซึ่งจุดประกายบางอย่างในใจเขา “ฟังแล้วมันสปาร์ค” เขาเล่า และต่อมาก็ได้เกิดเป็นความฝันอยากแบ่งปันแจ๊สกับผู้ที่ชื่นชอบ
หลังจากเรียนจบและทำงานได้สักพัก ก็ล่วงเลยมาถึงเวลาทำตามใจปรารถนา คุณบ๊อบเปิดคาเฟ่เล็กๆ เคล้าเพลงแจ๊ส ชื่อ “Sweets” ตรงข้าม J-Avenue ย่านทองหล่อ แม้จะขาดทุนในช่วงแรก แต่คำแนะนำจากรุ่นพี่ที่สนับสนุนให้จัดการแสดงดนตรีสดในร้าน กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
‘สวีท’ ไม่ใช่แค่ที่แฮงเอาต์ กลับเป็นเวทีอิสระในการแสดงออกของศิลปิน และนำมาซึ่งการรวมตัวกันของคนชอบแจ๊สในไทย
“เราไม่จำกัดว่าเพลงต้องเป็นแบบไหน หรือจะต้องมีนักร้องไหม เพราะแจ๊สคือความหลากหลาย” คุณบ๊อบเล่าถึงแนวคิดที่ทำให้ ‘สวีท’ เติบโตจากธุรกิจคาเฟ่ไปสู่ชุมชนทางดนตรีเล็กๆ ที่สื่อสารกันผ่านบทเพลงและความรู้สึก ซึ่งความก้าวหน้านี้อาจไม่เกิดขึ้นเลยหากมีเพียงคุณบ๊อบคนเดียว เพราะผู้ชมผู้ฟังคือสปอนเซอร์หลัก ขณะที่เหล่านักดนตรีแจ๊สชาวไทยยังเดินทางตามแพชชั่น อยากแสดงต่อเพื่อขยายพื้นที่ของวงการนี้ในสังคม


คุณเป้-ผ.ศ.ณัฐพล เฟื่องอักษร ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาดนตรีตะวันตก มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พ่วงฉายาตำนานเทเนอร์แซกโซโฟนเมืองไทย (Tenor Saxophone) คือหนึ่งในกัลยาณมิตรและพาร์ทเนอร์ทางดนตรีคนสำคัญของ Sweets Records เขามิได้เป็นเพียงแม่เหล็กดึงดูดผู้ฟังเท่านั้น แต่คือแรงบันดาลใจที่ช่วยหนุนหลังนักดนตรีรุ่นใหม่ๆ ด้วย
จากอดีตถึงปัจจุบัน
แม้ดนตรีแจ๊สจะถือกำเนิดขึ้น ‘บนถนนหนทาง’ ของชุมชนชาวแอฟริกัน-อเมริกันในสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อล่องลอยผ่านกาลเวลาและวัฒนธรรมจนมาถึงเมืองไทย เส้นทางของแจ๊สกลับมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างอย่างน่าสนใจ ทั้งในแง่ของผู้เล่น ผู้ฟัง และพื้นที่ที่ฟูมฟักให้ดนตรีได้เบ่งบาน ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แจ๊สในไทยอาศัยความพยายามอย่างยิ่งยวด
หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ทางดนตรีของไทยช่วงศตวรรษที่ผ่านมา พอพูดถึงการแสดงดนตรีแจ๊ส สิ่งแรกๆ ในความทรงจำของคนไทยส่วนใหญ่คืออะไร สำหรับอาจารย์เป้ “ภาพที่ใกล้ตัวที่สุด เห็นเป็นวงกว้างมากที่สุด น่าจะเป็นภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป่าแซกโซโฟน”
เมื่อสำรวจเหล่าเพลงพระราชนิพนธ์ หลายบทเพลงได้รับอิทธิพลจากดนตรีแจ๊สผสมผสานดนตรีคลาสสิก ทว่า ในช่วงเวลานั้นภาพจำของดนตรีลักษณะนี้ยังถูกมองว่าเป็นของ “สูงส่ง” อยู่ในราชสำนัก และเข้าถึงยาก ยกเว้นแต่ว่าอยู่ในกลุ่มคนที่มีโอกาสไปศึกษายังต่างประเทศ ต่อมาแจ๊สค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาในดนตรีไทยผ่านเครื่องดนตรีบิ๊กแบนด์ (Big Band) อย่างวงสุนทราภรณ์ ซึ่งถูกจารึกว่าเป็นวงดนตรีของคนไทยเจือกลิ่นกายสากลวงแรกๆ ของประเทศ และมีลักษณะใกล้เคียงกับเพลงตะวันตกร่วมยุค 1940
หลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุคของศิลปินลูกกรุงและป๊อปรุ่นบุกเบิกที่แทรกซาวด์แจ๊สไว้ เช่น อาจารย์ดนู ฮันตระกูล, คุณจิรพรรณ อังศวานนท์, คุณสุรสีห์ อิทธิกุล ไปจนถึงยุคของคุณเต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์ ที่เครื่องดนตรีเป่ากลายเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของเพลงป๊อปไทย
“แต่ก่อนถ้าจะฟังแจ๊ส ต้องไปฟังในล็อบบี้โรงแรมหรือบาร์” อาจารย์เป้เล่าถึงยุคที่ดนตรีแจ๊สยังเป็นวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม แม้จะมีความพยายามนำเสนอแจ๊สดั้งเดิมสู่คนหมู่มากอยู่บ้าง อย่างการออกอัลบั้มของวงเลบง โดย รศ.ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต) ณ ช่วงเวลานั้นคนไทยบางคนอาจรู้จัก แต่สำหรับนักฟังเพลงชาวญี่ปุ่น พวกเขารู้สึกประทับใจและชื่นชมกับอัลบั้มนี้มาก
ในอดีตอาจารย์เป้และนักเรียนดนตรีตะวันตก นอกจากจะต้องฝึกฝนทักษะในการเล่นเครื่องดนตรีที่เลือกจนชำนาญ ยังต้องสามารถเล่นเพลงได้หลากหลายแนว เพราะยังไม่มีการกำหนดให้ดนตรีแจ๊สเป็นสาขาวิชาเอก (Major) ในเชิงสถาบัน กว่าจะถึงเวลานั้นก็ล่วงเข้าสู่ปี 1999 เมื่อคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดหลักสูตรแจ๊สอย่างเป็นทางการ ออกแบบเค้าโครงการสอน และมีการมอบใบปริญญา กลายเป็นจุดเริ่มของการพัฒนานักดนตรีรุ่นใหม่อย่างมีระบบจนถึงทุกวันนี้


อนาคตของผู้เล่นและผู้ฟัง
กดปุ่มฟอร์เวิร์ดมาถึงปี 2014 Sweets ได้รับเลือกจาก UNESCO Bangkok ให้เป็นเจ้าภาพประจำกรุงเทพฯ ในการจัดงานเฉลิมฉลอง International Jazz Day หรือวันดนตรีแจ๊สสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 30 เมษายนของทุกปี แม้งานนี้เป็นการแสดงดนตรีแจ๊สครั้งสุดท้ายที่คุณบ๊อบได้จัดในคาเฟ่ของตัวเองย่านทองหล่อ แง่หนึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกเสียดาย แต่ในอีกมุมหนึ่ง การแสดงคราวนั้นมีผู้ชมผู้ฟังมากถึงหลักร้อยคน ล้นออกไปนอกร้านที่เดิมทีรองรับได้เพียง 30 คน
คุณบ๊อบเล่าต่อ “มันทำให้รู้ว่า จริงๆ แล้วคนไทยฟังแจ๊สเยอะนะ แค่ไม่มีที่ให้เข้าถึงง่ายๆ”
หลังจากคาเฟ่ Sweets ปิดตัวลง คอมมูนิตี้นักดนตรีและคนฟังไม่ได้หายไปไหน พวกเขาเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่นและแข็งแกร่ง ทำให้คุณบ๊อบยังสืบทอดเจตนารมณ์ของตนและของ ‘สวีท’ ต่อไปในรูปแบบของผู้สร้างอีเวนต์ (jazz pop-up event) และผู้ประสานงาน collaboration ระหว่างนักดนตรีกับสเปซการแสดงต่างๆ เช่น Badmotel, Yellow Lane Ari, theCOMMONS Thonglor และ theCOMMONS Saladang เป็นต้น
สำหรับคุณบ๊อบและอาจารย์เป้ แจ๊สไม่ใช่แค่สไตล์ดนตรี แต่คือวิถีชีวิต “แจ๊สคือชีวิต – Jazz is Life” พวกเขาเชื่อว่าเสน่ห์ของแจ๊สอยู่ที่ความไม่ตายตัว การเปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ และผู้ฟังได้พบประสบการณ์ดนตรีสดที่จับต้องได้ หากสนใจหรืออยากเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้ Sweets Records สามารถแบกเครื่องดนตรีเข้าไปแจมกับวงได้ทันที หรือจะติดต่อขอดูตารางแสดงได้ตามช่องทางโซเชียลมีเดีย
“เราเปิดรับนักดนตรีจากคอนเซปต์กับความรู้สึก ไม่ใช่แค่ทฤษฎี” พวกเขากล่าว ย้ำถึงแนวคิดที่ว่าการเล่นแจ๊สไม่จำเป็นต้องตามหลักสูตร แต่คือการฟัง การตอบสนอง และการเติบโตไปพร้อมกัน ส่วนคุณผู้ชมผู้ฟัง Sweets Records ยินดีให้ทุกคนเข้ามาชาร์จพลังชีวิตผ่านบทเพลงแจ๊สได้เสมอ
แจ๊สในเมืองไทยยังคงเดินทางต่อและแตกหน่อในรูปแบบของมันเอง – ไม่เร่งรีบ ไม่ตามกระแส แต่เปี่ยมไปด้วยชีวิต
ขอขอบคุณสถานที่ Yellow Lane Ari โดย People of Ari (POA)